วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย (ตอนที่ 1)

องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย

 
โดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์  อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข**

ตอนที่  1

        พระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระทัยการสื่อสารด้วยวิทยุอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2511  เพราะทรงตระหนักดีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้พระองค์ท่านได้ทรงทราบทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสื่อสารตำรวจได้มีโอกาสรับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่นายตำรวจราชสำนักเวร

        วันแรกที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชสำนักเวรที่สวนจิตรลดาได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์และมีพระราชกระแสซักถามเกี่ยวกับวิชาการวิทยุอยู่นานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นการศึกษาก็ตาม  แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษเกี่ยวกับคุณลักษณะของสายอากาศ    ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับและส่งวิทยุเป็นอันดับแรก
       ต่อจากนั้นข้าพเจ้าได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เพื่อกราบบังคมทูลถวายคำชี้แจงเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยวิทยุอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งจะทรงมีพระราชกระแสสอบถามและทรงตั้งข้อสังเกตทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในสมัยนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารที่ทันสมัยและกว้างขวางที่สุดภายในประเทศ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือในด้านการสื่อสารแก่กรมตำรวจเป็นเงินมหาศาลไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท (เหตุผลและรายละเอียดที่สหรัฐอเมริกาต้องทำเช่นนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้ จึงขอสงวนไว้ก่อน)
        เครื่องวิทยุที่รู้จักแพร่หลายในวงการตำรวจโดยทั่วไป ได้แก่ เครื่องรับส่งวิทยุ FM-5 ซึ่งเป็นเครื่องวิทยุที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่กรมตำรวจให้ใช้งานทั่วประเทศเป็นจำนวนมากกว่าหมื่นเครื่อง เนื่องจากเครื่องวิทยุแบบนี้จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้อยู่มาก จึงขออธิบายคุณลักษณะทางเทคนิคไว้พอเป็นพื้นฐานดังนี้ เป็นเครื่องรับส่งวิทยุโทรศัพท์ชนิดกระเป๋าหิ้ว ใช้ได้ทั้งแบตเตอรี่แห้ง แบตเตอรี่ชนิดประจุไฟได้ แบตเตอรี่รถยนต์ และกำลังไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ตามบ้าน ทำงานในย่านความถี่ VHF (148-174 MHz) ระบบ FM  มีกำลังส่ง 5 วัตต์ แต่อาจขยายเป็น  20  วัตต์ได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ขยายกำลังส่งเครื่องวิทยุแบบนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเวียดนามใต้มาก่อนออกแบบมาใช้ในกิจการสนามของฝ่ายทหารโดยเฉพาะ จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องที่สมบุกสมบันเหมาะสมที่จะใช้ในภูมิภาคนี้พอสมควร  ข้าพเจ้าจึงได้นำเครื่องวิทยุ FM-5 นี้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงทดลองใช้งานรวม 2 เครื่อง  ทั้งสองเครื่องนี้สามารถรับฟังและติดต่อสื่อสารภายในข่ายตำรวจได้ ในขณะนั้นข้าพเจ้าได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์การสื่อสารร่วมของกรมตำรวจ (ปทุมวัน) ขึ้นเป็นครั้งแรก ข่าวสารเกี่ยวกับกิจการตำรวจที่หน่วยต่าง ๆ  ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกรมตำรวจจะส่งข่ายการสื่อสารร่วมนี้ ต่อมากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องรับส่งวิทยุ  FM-5  ซึ่งทำให้สามารถติดต่อกับข่ายของตำรวจนครบาลและภูธรได้โดยตลอดตั้งแต่นั้นมาในการติดต่อสื่อสารในข่ายวิทยุของกรมตำรวจ  ข้าพเจ้าได้กำหนดประมวลสัญญาณประจำพระองค์ถวายพร้อมทูลเกล้าฯ ถวายสมุดประมวลสัญญาณสำหรับการติดต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดจำประมวลสัญญาณได้อย่างแม่นยำ และปฏิบัติตามระเบียบวินัยในการติดต่อสื่อสารทั้งทรงติดต่อทางวิทยุกับผู้เกี่ยวข้องเช่นสามัญชน  ยังความปลาบปลื้มปิติให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง
        โดยที่สายอากาศใช้กับเครื่องวิทยุ FM-5 เป็นสายอากาศชนิด Whip ติดกับตัวเครื่องมีรัศมีทำงานจำกัด จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้านำสายอากาศชนิดมีอัตราการขยายสัญญาณได้สูงหรือสายอากาศชนิด High Gain ไปติดตั้งเพื่อทดลองใช้บนดาดฟ้าของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานหลายแบบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับคุณลักษณะของสายอากาศเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะคุณลักษณะการแผ่กระจายคลื่นวิทยุและคุณลักษณะการรับสัญญาณวิทยุว่าสามารถส่งและรับในทิศทางใดได้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพหรือ Gain สูงกว่าอากาศแบบธรรมดาหรือ Ground Plane อย่างไร นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยถึงคุณลักษณะของสายส่งกำลังหรือ Transmission Line ความเหมาะสม (Matching) ระหว่างสายส่งกำลังกับสายอากาศ ซึ่งข้าพเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องวัดคามแรงของสัญญาณ (Field Strength Meter) และเครื่องวัดกำลังส่ง (RF Wattmeter)  ไว้เพื่อทรงทดลองใช้งาน
        การทดลองหาคุณลักษณะการแผ่กระจายคลื่นและการรับสัญญาณของสายอากาศแบบต่าง ๆ ได้กระทำโดยการวัดความแรงของสัญญาณ ณ จุดต่าง ๆ โดยรอบกรุงเทพมหานครในรัศมี 1 กิโลเมตร  ซึ่งทรงทดลองส่งสัญญาณโดยพระองค์เองจากพระตำหนักจิตรลดาฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายเคลื่อนที่ไปวัดความแรงของสัญญาณตามจุดต่าง ๆ เมื่อนำเอาผลของการทดลองมาเขียนลงในกระดาษกร๊าฟแล้ว ปรากฏว่าสายอากาศแต่ละแบบมีคุณลักษณะรูปร่างในการแผ่กระจาย คลื่นแปลก ๆ เป็นที่พอพระทัย และโดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องถวายคำชี้แจงพระองค์ท่านได้พระราชทานข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะการแผ่กระจายคลื่น ซึ่งผิดแปลกไปจากข้อกำหนดเฉพาะของสายอากาศนั้นว่า เกิดจากการสะท้อนของคลื่นที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งถูกต้องกับหลักวิชาการทุกประการ
        คุณลักษณะอีกประการหนึ่งคือ ความเหมาะสม (Matching) ระหว่างสายส่งกำลังกับสายอากาศ ซึ่งตามตำราได้ระบุไว้ว่าหากไม่เหมาะสมกับ (Mismatch) คลื่นวิทยุจะไม่แผ่กระจายออกไปอย่างเต็มที่ เพราะส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับ (Reflected wave) มาในสายส่งกำลัง ทำให้เกิดความสูญเสียกำลังในสายส่งกำลัง  นอกจากนี้สายส่งกำลังแต่ละแบบจะมีคุณลักษณะประจำตัวอย่างหนึ่งคือ ทำให้คลื่นวิทยุที่ส่งผ่านไปมีการสูญเสียกำลังภายในหากสายกำลังส่งมีความยาวมาก การสูญเสียกำลังคลื่นวิทยุจะมีมาก ทั้งสองประการนี้ได้ทรงทดลองด้วยพระองค์เอง โดยใช้เครื่องวัดกำลังส่ง (RF Wattmeter) ซึ่งข้าพเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายไว้  การทดลองต้องทรงกระทำทั้งในและนอกอาคาร ถึงแม้ว่าแดดจะร้องเพียงใดก็มิได้ทรงย่อท้อ โดยทรงตรวจสอบดูลักษณะของสายอากาศทุกแบบที่ตั้งไว้ ณ พระตำหนักฯ และทรงจดบันทึกไว้โดยละเอียดทุกครั้งบางครั้งทรงปฏิบัติการโดยลำพังจนเสร็จ แล้วจึงพระราชทานผลงานพร้อมกับข้อสังเกตให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อพิจารณากราบบังคมมูลและถวายคำแนะนำถึงวิธีการแก้ไขตามหลักวิชา  รวมทั้งการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะทรงตระหนักดีว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสายอากาศเป็นพิเศษแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องรับเครื่องส่งวิทยุที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทำให้ติดต่อสื่อสารทางวิทยุมีประสิทธิภาพดีพอเพียงอย่างแน่นอน
        อนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงโปรดให้มีการทดลองและสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะในการแผ่กระจายคลื่นวิทยุทั้งในอากาศและที่ไปตามสายส่งกำลัง เมื่อได้นำสายอากาศไปติดตั้งใช้งานในภูมิประเทศที่แตกต่างกันการเปลี่ยนแปลงความยาวของสายอากาศรวมทั้งผลที่เกิดจากการนำเอาสายอากาศไปวางห่างกันในระยะต่าง ๆ ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง แล้วประมวลศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักวิชาหากสิ่งใดสมควรก็หยิบยกเป็นปัญหาแล้วหาทางแก้ไขก็ได้   โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ารับมาพิจารณาหาวิธีการและออกแบบอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของสายอากาศนั้น ๆ
        เมื่อปลายปี พ.ศ. 2511  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค
ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชสำนักเวรตลอดเวลาที่เสด็จฯ ประทับแรม ณ ที่นั่น ระหว่างที่ประทับแรมได้ทรงใช้เครื่องวิทยุ FM-5 รับฟังการติดต่อสื่อสารของตำรวจหน่วยต่าง ๆ ซึ่งปฏิบัติการถวายความอารักขาอยู่เป็นประจำ จึงได้ทรงทราบข่าวการเคลื่อนไหวทุกข์สุขของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงทางวิทยุอยู่ทุกระยะ เมื่อจะมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์แต่ละครั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและตำรวจมักจะสั่งปิดถนนห้ามการจราจรในเส้นทางที่เสด็จฯ ผ่านล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรเท่าที่ควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมราชองค์รักษ์ติดต่อประสานงานกับฝ่ายบ้านเมืองและตำรวจปรับปรุงแก้ไข เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน อนึ่งได้พระราชทานกระแสพระราชดำริแก่ข้าพเจ้าว่า การปฏิบัติงานของหน่วยต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขา โดยเฉพาะตำรวจซึ่งมีหลายหน่วย เช่น กองการสื่อสารตำรวจ กองปราบปราม กองบังคับการตำรวจสันติบาล ตำรวจภูธร  ฯลฯ  ยังขาดการประสานที่ดีเพียงพอ เนื่องจากขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพน่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข กระแสพระราชดำรินี้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความริเริ่มจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสื่อสารร่วมของกรมตำรวจเพื่อถวายการอารักขาขึ้นเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า ศูนย์ลานนา และจัดให้ทุกหน่วยตำรวจและหน่วยทหาร พลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่อารักขาใช้ความถี่ร่วมภายใต้การควบคุมข่ายโดย ศูนย์ลานนา
        โดยที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์อยู่ในภูมิประเทศหนึ่งที่เหมาะสม  จึงช่วยให้ทรงรับฟังและติดต่อการสื่อสารได้ดีกว่าหน่วยตำรวจหลายหน่วย บางครั้งที่หน่วยตำรวจบางหน่วยไม่สามารถติดต่อกันได้ ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณถ่ายทอดข่ายให้จนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งยังความปลาบปลื้มปิติให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ข้าพเจ้าซึ่งตามเสด็จฯ จะเป็นผู้รายงานทางวิทยุให้ศูนย์ลานนาและหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบ แต่ในกรณีที่ข้าพเจ้าติดต่อไม่ได้และอยู่ในวิสัยที่จะทรงติดต่อได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงติดต่อถ่ายทอดรายงานของข้าพเจ้าให้แทน ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปตามเทือกเขาเป็นชั่วโมง ๆ ทรงโปรดที่จะทำการทดลองติดต่อทางวิทยุกับข้าพเจ้า ราชองค์รักษ์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นประจำ บางครั้งเสียงโต้ตอบทางวิทยุจะมีเสียงหอบของทั้งสองฝ่ายแทรกไปด้วย ครั้งแรก ๆ ที่ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จฯ ดอย มีความรู้สึกว่าคงไปไม่รอดเพราะจะต้องแต่งชุดสนาม สวมรองเท้าคอมแบต สวมเสื้อ Jacket Field  ซึ่งหนาและหนัก  ทั้งยังต้องสะพายเครื่องวิทยุ (เคราะห์ดีที่ไม่มีอาวุธปืนไปด้วย) น้ำหนักตัวซึ่งตอนนั้นค่อนข้างเจริญพุง รวมทั้งน้ำหนักเสื้อผ้าและเครื่องวิทยุแล้วหลายกิโล ขณะที่เดินขึ้นดอยที่ค่อนข้างชันกว่าจะถึงยอดดอยก็เหงื่อท่วมตัวมองฟ้าเหลืองเห็นดาวเดือนจริง ๆ
        ในช่วงเวลานั้น ๆ ขณะที่ไม่มีพระราชภารกิจนอกสถานที่ ได้พระราชกระแสกระราชดำริเกี่ยวกับสายอากาศแบบต่าง ๆ ที่ควรจะเป็นไปได้ให้ข้าพเจ้ารับมาพิจารณาในด้านวิชาการและทดลองประดิษฐ์ ทำให้ข้าพเจ้าต้องหยิบตำราสายอากาศต่าง ๆ มาปัดฝุ่นศึกษาดูแล้วมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ช่างไปประดิษฐ์ขึ้น ปรากฏว่าได้สายอากาศมามีรูปร่างแปลก ๆ ที่สนใจคือ แบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องยกน้ำหนักหรือบาร์เบลล์ และอีกแบบหนึ่งทรงตั้งชื่อแบบ หางเปีย เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย โปรดเกล้าฯให้มีการทดลองหาคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละแบบระหว่างพระตำหนักภูพิงค์ฯ กับศูนย์การสื่อสารประจำเขตของตำรวจในเมืองซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองด้วยพระองค์เองร่วมกับข้าพเจ้าซึ่งอยู่ข้างล่างผลที่ได้ไม่เลวนัก โดยเฉพาะสายอากาศแบบหางเปีย  สายอากาศแบบต่าง ๆ ที่ทรงทดลองนี้หากมีโอกาสข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะกราบบังคมทูลของพระราชทานมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการโทรคมนาคมที่จะตั้งในอนาคต
        กระแสพระราชดำริอีกประการหนึ่งที่พระราชทานให้แก่ข้าพเจ้ามาพิจารณา คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถติดต่อระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ได้โดยเครื่องวิทยุขนาดเล็ก ๆ เช่น Handie Talkie เรื่องนี้น่าหนักใจมาก เพราะการติดต่อสื่อสารทางไกล ๆ เช่นนั้น ต้องใช้ระบบวิทยุ Single Sideband เท่านั้น ระบบวิทยุ VHF/FM ที่ทรงใช้อยู่มีรัศมีทำงานจำกัดในรัศมีเพียง 50 กิโลเมตรเป็นอย่างสูง หากเป็นเครื่องวิทยุ Handie Talkie แล้วระยะจะไม่ไกลมากเว้นแต่จะอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสม และคุณลักษณะของสถานีกลางซึ่งจะช่วยยืดระยะทางออกไปได้อีก กระแสพระราชดำริที่พระราชทานนี้ได้เป็นแรงผลักดันให้ข้าพเจ้าริเริ่มตั้งระบบวิทยุถ่ายทอดผ่านวงจรโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขึ้น โดยจัดตั้งสถานีวิทยุถ่ายทอดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 สถานีและที่กรุงเทพมหานคร 1 สถานี  สถานีวิทยุทั้งสองแห่งเชื่อมต่อกันด้วยวงจรโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งนับว่าเป็นผลสำเร็จในการพัฒนาระบบสื่อสารของประเทศอีกระบบหนึ่งในขณะที่เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เครื่องวิทยุ Walkie Talkie เรียกมาที่สถานีวิทยุถ่ายทอดเชียงใหม่  ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านวงจรโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์ฯ มาบังคับเครื่องวิทยุสถานีในกรุงเทพฯ ให้ส่งต่อโดยอัตโนมัติ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกำลังจะเสด็จขึ้นประทับเครื่องบินไปต่างประเทศที่ท่าอากาศยานดอนเมือง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่ดอยปุยได้รับสั่งกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชโดยตรงด้วยเครื่องวิทยุ Walkie Talkie ยังความประหลาดพระทัยให้แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและประหลาดใจแก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง  ระบบวิทยุถ่ายทอดนี้กองบังคับการตำรวจสื่อสารยังคงจัดถวายเพื่อทรงใช้งานทุกครั้งที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่หน่วยตำรวจในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ โดยเครื่องวิทยุผ่านระบบถ่ายทอดนี้ในทุกวันขึ้นปีใหม่

** บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ "วิศวกรรมสาร" ปีที่ 35 เล่มที่ 6 เดือนธันวาคม 2525
ซึ่งขณะนั้นท่านพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์
อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม 2565 เวลา 11:43

    Wynn Resorts, Limited - FBM - FBM 우리카지노 마틴 우리카지노 마틴 메리트카지노 메리트카지노 matchpoint matchpoint dafabet link dafabet link 188bet 188bet 카지노 카지노 9 Asian Handicap Soccer 2021 – Play with Experts

    ตอบลบ