วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย (ตอนที่ 2)



                                                                           องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย (ตอนที่ 2)                 
   โดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข**

ตอนที่  2
            ดังกล่าวแล้วในตอนที่ 1  ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนประทัยในคุณลักษณะขีดความสามารถและประสิทธิภาพของสายอากาศที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเป็นพิเศษได้ทรงทดลองสายอากาศแบบต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าร่วมตรวจสอบหาผลด้วย การทดลองที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ การทดลองเพื่อหาผลในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ VHF/FM  ระหว่างกรุงเทพฯกับหัวหิน ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 200 กิโลเมตร  หากพิจารณาขีดความสามารถในการแผ่กระจายคลื่นวิทยุในย่านความถี่สูงมาก (VHF)  ระหว่าง 148-174 MHZ แล้ว ตามตำราบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะรัศมีการทำงานจะไม่เกิน 50 กิโลเมตร หากไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือภูเขาสูงในเส้นทางจุดทดลองในกรุงเทพฯ อยู่ที่บ้านพักของข้าพเจ้าในขณะนั้น คือ บ้านพักของทางราชการในกองการสื่อสาร กรมตำรวจ บางเขน มีเสาอากาศสูงประมาณ 10 เมตร และใช้สายอากาศที่แค็ตตาล็อกบอกว่ามีประสิทธิภาพในการรับส่งดีพอสมควร เครื่องรับ-ส่งวิทยุมีกำลังประมาณ 100 วัตต์ จุดทดลองที่หัวหิน ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล ซึ่งได้ติดตั้งสายอากาศแบบต่าง ๆ ไว้มากพอสมควร และได้ทำการทดลองตั้งแต่เวลา 23.00 น. ไปเรื่อยๆ กว่าจะเสร็จสิ้นเกือบ 3 นาฬิกาของวันใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุกำลังส่ง 44 วัตต์ ใช้สายอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ในครั้งแรกผลการติดต่อสื่อสารชัดเจนดีมาก ได้ทรงทดลองโดยการลดกำลังส่งและเปลี่ยนแปลงสายอากาศเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพต่ำลงทุกที ผลการติดต่อสื่อสารถึงแม้ว่าจะด้อยลงกว่าเดิมแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ชัดเจนดี ในที่สุดได้ทรงทดลองด้วยเครื่องรับ-ส่งวิทยุ Handie-Talkie กำลังส่ง 5 วัตต์ ปรากฏว่ายังคงติดต่อได้แต่ได้มีปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตเกิดขึ้นในระหว่างเวลาตั้งแต่หลัง  24.00 น. ไปแล้วเริ่มมีอาการจางหาย (Fading) เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ถี่ขึ้นและมากยิ่งขึ้น วิธีทดลองพระองค์ท่านกับข้าพเจ้าใช้วิธีนับหนึ่งถึงสิบ และคอยสังเกตการจางหายของสัญญาณว่าตัวเลขที่นับหายไปช่วงไหนนานและถี่เพียงใด ต่อจากนั้นได้ลองเพิ่มกำลังส่งและเพิ่มประสิทธิภาพหรือ Gain ของสายอากาศ เพื่อนำมาชดเชยอาการจางหายที่เกิดขึ้น ผลของการทดลองสรุปได้ว่า อาการจางหายของการแผ่กระจายคลื่นวิทยุในย่านความถี่สูงมากระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวหิน จะเกิดขึ้นมากนับตั้งแต่เวลา 24 น. ไปแล้ว จนถึงประมาณ 3 นาฬิกาของวันใหม่และอาการจางหายมีระหว่าง 10-15 dB  ระหว่างการทดลองนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จพระราชดำเนินขึ้นลงระหว่างห้องทรงงานกับดาดฟ้าในวังนั้นไม่ทราบว่ากี่เที่ยวเพราะไม่ได้รังสั่งไว้  ผลของการทดลองดังกล่าวนี้ต่อมาข้าพเจ้าได้เปิดในตำราวิทยุเล่มหนึ่งซึ่งกล่าวถึงอาการจางหายของสัญญาณความถี่วิทยุในย่านนี้ ซึ่งได้จากการทดลองตามหลักวิชาการอย่างแท้จริงในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยราคาแพงหลายชนิดว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากเที่ยงคืนไปเช่นเดียวกับผลของการทดลองโดยวิธีการง่ายๆ ของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว
            โดยที่ทรงสนพระทัยรับฟังข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ อยู่เป็นประจำเนื่องจากทรงต้องการทราบทุกข์สุขของประชาชนคนไทยโดยรวดเร็วและถูกต้อง จึงโปรดเกล้าฯให้ติดตั้งสายอากาศแบบต่างๆ ไว้บนดาดฟ้าใกล้ห้องทรงงานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระตำหนักในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง รวมทั้งที่รถยนต์พระที่นั่ง ถึงแม้ว่าตามตำราจะเขียนไว้ว่าจะทำให้เกิดกระทบระหว่างสายอากาศ ด้วยกัน (Interaction) แต่ว่ามิได้กล่าวไว้โดยชัดเจนว่ามีมากน้อยเพียงใดและการแก้ไขที่เหมาะสมควรจะทำประการใด  เมื่อได้ติดตั้งแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระทัยสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการติดต่อสื่อสารในข่ายต่างๆ โดยใกล้ชิด ซึ่งได้พบว่า นอกจากจะมีผลกระทบเรื่องทิศทางการแผ่กระจายแล้วยังมีผลทำให้เกิดการผสมคลื่นระหว่างกัน (Intermodulation) ทำให้ชักนำคลื่นวิทยุของอีกข่ายหนึ่งเข้าไปรบกวนข่ายปฏิบัติงานอีกข่ายหนึ่ง ทั้งที่ความถี่ไม่ตรงกันเรื่องนี้ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ทำไมเครื่องรับวิทยุที่ปรับไว้สำหรับความถี่หนึ่งจึงไปรับคลื่นวิทยุอีกความถี่หนึ่งเข้ามาได้โดยชัดเจน ดูจะขัดกับทฤษฎีชัดๆ เมื่อรับสั่งเล่าให้ฟัง ข้าพเจ้าจึงได้เปิดตำราทบทวนดูหลายเล่มแต่ยังไม่ได้คำตอบแน่ชัด จนกระทั่งไปพบในเอกสารเผยแพร่ทางวิทยาการของบริษัทผู้ผลิตวิทยุบริษัทหนึ่งจึงได้คำตอบที่แน่ชัด นอกจาก Intermodulation แล้วผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เกิด Mismatch โดยเฉพาะสายอากาศชนิด Ground Plane ที่ติดตั้งไว้ 2-3 เส้น บนหลังคารถยนต์คันเดียวกันซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการปรับระยะห่างระหว่างสายอากาศให้พอเหมาะกับการปรับความยาวของสายอากาศมากกว่าที่คำนวณไว้อีกเล็กน้อย
            เรื่องความสูงของสายอากาศก็เช่นเดียวกัน ได้มีการเข้าใจว่าเสาอากาศสำหรับการติดต่อสื่อสารในย่านความถี่สูงมาก ยิ่งสูงเท่าไรยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นดูจะคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้ถวายคำชี้แจ้งเกี่ยวกับคุณลักษณะของสายส่งกำลัง (Transmission Line) ว่าจะมีการสูญเสียกำลังสัญญาณสูงขึ้น ถ้าสายส่งกำลังมีความยาวมากยิ่งขึ้น และถ้าสายอากาศกับสายส่งกำลังมีคุณลักษณะไม่เหมาะสม (Mismatch) กันก็จะเกิดสูญเสียกำลังสัญญาณเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายวิธีการคำนวณหาระดับความแรงของสัญญาณที่พึงจะได้รับได้ ณ สถานีปลายทาง ซึ่งมีตัวเลขแสดงการสูญเสียกำลังสัญญาณในสายส่งกำลังพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองวัดการสูญเสียกำลังสัญญาณของระบบสายอากาศที่ทรงใช้อยู่ โดยการติดตั้งเครื่องวัดกำลังสัญญาณวิทยุ (RF Wattmeter) ที่ต้นทางระหว่างเครื่องส่งวิทยุกับสายส่งกำลังและปลายทางระหว่างสายส่งกำลังกับสายอากาศ ผลปรากฏออกมาอย่างชัดเจนว่า กำลังสัญญาณที่ออกจากเครื่องส่งวิทยุจะสูญเสียกำลังไปในสายส่งกำลังไม่น้อย บางสายมีการสูญเสียกำลังมากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นในโอกาสเสด็จฯต่างจังหวัดมักโปรดที่จะทอดพระเนตรความสูงของเสาสายอากาศของส่วนราชการ ซึ่งมักจะสร้างให้มีความสูงข่มกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าของตนเหนือกว่าอีกหน่วยหนึ่ง นอกจากนี้การตั้งเสาสายอากาศก็ห่างจากตัวอาคารมากมาก ใช้สายส่งกำลังยาวไม่อั้นเมื่อทรงมีโอกาสจะพระราชทานคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นให้ทราบว่า ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรจึงจะถูกต้องและประหยัด
            ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดโดยเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ ระยะต้นๆ จะทรงนำเอาเครื่องรับ-ส่งวิทยุชนิด Portable ไปด้วยและใช้สายอากาศชนิด Whip คีบติดไว้ในตัวเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งแล้วทดลองติดต่อกับข้าพเจ้าซึ่งเดินทางอยู่ในขบวน  และหน่วยงานที่อยู่ในเส้นทางผ่าน การทดลองได้ผลไม่น่าพอใจนักเพราะตัวเครื่องบินเป็นอุปสรรคสำคัญในการแผ่กระจายคลื่น  จุดที่คีบสายอากาศไว้ยังมีผลทำให้เกิดการ Mismatch ดังนั้นจึงต้องเลือกหาจุดที่เหมาะสมที่ดีจริง ๆ สำหรับข้าพเจ้าลำบากหน่อยเพราะเขาจัดที่นั่งไว้เฉพาะบุคคล จะไปเลือกที่นั่งเลือกจุดคีบสายอากาศย่อมกระทำได้ยาก การติดต่อสื่อสารทางวิทยุจากอากาศยานนี้ต่อมามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับกรมตำรวจได้ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุให้แก่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร และโดยการใช้แผนปฏิบัติการสื่อสารร่วมถวายอารักขา จึงสามารถติดต่อจากอากาศยานได้ทันทีที่เริ่มออกเดินทาง และติดต่อกับสถานีตำรวจที่อยู่ในเส้นทานผ่านจนถึงปลายทาง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าไม่มีจุดบอดในการติดต่อเลยไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปในเส้นทางภาคเหนือ อีสาน หรือภาคใต้ ระบบการสื่อสารระหว่างอากาศยานพระที่นั่งกับสถานีภาคพื้นดินนี้ยังคงใช้ได้ผลอยู่จนทุกวันนี้  ซึ่งไม่ยุ่งยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก
            การเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ได้มีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลายครั้ง โดยเฉพาะการเดินทางผ่านเมฆฝนซึ่งเราเรียกกันว่า “ฟ้าปิด”  นักบินจะต้องพยายามหาช่อง “ฟ้าปิด”  เพื่อลอดออกไป บางครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จต้องลงระหว่างทางหลายครั้ง การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคเหนือหลายครั้งต้องเสด็จฯ ผ่านภูมิประเทศที่มีหมอกลงจัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุติดต่อกับหน่วยปฏิบัติการภาคพื้นดินซึ่งล่วงหน้าไปก่อนทุกระยะจนกระทั่งเสด็จฯ ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
            ขบวนเสด็จฯ โดยอากาศยานบางครั้งมีเหตุที่อากาศยานตามเสด็จบางลำมีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถถึงที่หมายปลายทางได้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบทางวิทยุจะทรงเป็นห่วงใยและทรงมีพระราชกระแสให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งเมื่อเสด็จฯ กลับถึงพระตำหนักที่ประทับแล้วยังทรงห่วงใยรับสั่งสอบถามทางวิทยุทุกระยะ จนกระทั่งแน่พระทัยว่าทุกคนปลอดภัยหรือถึงที่หมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว  ข้าพเจ้าได้ประสบกับตัวเองอยู่ 2-3 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นพอสมควร คือ ข้าพเจ้าเดินทางตามเสด็จฯ ในเครื่องบินของราชองครักษ์จากภาคใต้เดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ เครื่องบินเป็นเครื่อง “ดาโกต้า” ปรากฏว่าเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งไม่ทำงานจำเป็นต้องร่อนลง ขณะนั้นยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะลงที่ใดเพราะเมื่อมองออกไปเห็นใบพัดไม่หมุนและมองลงไปเห็นแต่น้ำทะเล ฝนก็ตก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่ในเครื่องพระที่นั่งนำขบวนได้รับสั่งสอบถามทางวิทยุอยู่ทุกระยะ จนกระทั่งแน่พระทัยว่าเครื่องบินของราชองครักษ์ที่ข้าพเจ้าโดยสารไปด้วยได้ร่อนลงที่สนามบินของสถานีทหารเรือสงขลาแล้ว จึงเลิกการติดต่อก่อนเลิกการติดต่อได้พระราชทานพร “ให้ทุกคนปลอดภัย”


พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

** บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ "วิศวกรรมสาร" ปีที่ 35 เล่มที่ 6 เดือนธันวาคม 2525
 ซึ่งขณะนั้นท่านพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น