วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย (ตอนที่ 3)

                                                                       องค์พระบิดาแห่งการสื่อสารของไทย (ตอนที่ 3)              
   โดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข**

ตอนที่  3
ทรงสนพระทัยในเรื่องไฟฟ้าวิทยุมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

            ระบบไฟฟ้าสายเดียวที่ได้มีผู้ริเริ่มนำมาใช้ในชนบทเมื่อไม่กี่ปีมานี้ไม่ใช่ของใหม่เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเป็นการส่วนพระองค์ว่า เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เมืองโลซานประเทศสวิสได้ทรงทดลองใช้สายทองแดงเล็กๆ เส้นเดียวต่อทางปลั๊กไฟฟ้าบนพระตำหนักลงมาที่สนามเป็นระยะทางไม่น้อยเพื่อต่อเข้ากับรถไฟฟ้าของเล่น ปรากฏว่าวิ่งได้สบายมาก ตามธรรมดารถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เช่น รถไฟของเล่นจะต้องต่อสายไฟเข้าสองสายจึงจะวิ่งได้ ระหว่างที่ทรงทดลองเรื่องไฟฟ้านี้จะไม่ทรงประมาทได้ทรงทำเครื่องหมายรูปหัวกะโหลกมีกระดูกไขว้และอักษรว่า “ACTUNG” (ภาษาเยอรมัน แปลว่า “ระวัง”) ไว้ที่ปลั๊กไฟฟ้าด้วย
            เกี่ยวกับด้านวิทยุ ได้ทรงเจียดจ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้อแร่หนวดแมว คอยล์ และคอนเดนเซอร์หูฟัง (ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์เครื่องรับวิทยุเครื่องแร่ในสมัยนั้น) ซึ่งเขาวางขายเลหลังในราคาถูกๆ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่ากี่ฟรังก์สวิส มาทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดใช้แร่แล้วต่อสายอากาศยาวๆ ปรากฏว่าสามารถรับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ทรงภูมิพระทัยในสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยุนี้มาก เพราะใช้อุปกรณ์สิ่งของราคาถูกที่เขาขายเลหลัง (หากสิ่งประดิษฐ์ได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คงจะเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์การสื่อสารซึ่งกำลังจะจัดตั้งขึ้น)
            ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุได้พัฒนาขึ้นได้มีการนำเอาหลอดสูญญากาศหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหลอดวิทยุ มาใช้ประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุ เครื่องส่งวิทยุ เครื่องขยายเสียง ฯลฯ เครื่องรับวิทยุที่ใช้หลอดวิทยุในสมัยนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรอาจขอชมได้ที่กรมประชาสัมพันธ์ เครื่องรับวิทยุประเภทนี้มีความดังพอสมควร และบางเครื่องสามารถต่อกับ “PICK-UP” หรือเครื่องเล่นจานเสียงได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทดลองต่อสายยาวเชื่อมระหว่างตัวเครื่องกับลำโพงจากห้องที่ประทับของพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอพระทัยทั้งสองพระองค์


โรงเรียนสอนวิชาช่างวิทยุทางอากาศ

            เครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคมที่ข้าพเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงใช้งานตั้งแต่ต้น เป็นเครื่องวิทยุซึ่งสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือแก่กรมตำรวจในสมัยนั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2515) มีชื่อเรียกว่า “เครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5”  มีกำลังส่ง 5 วัตต์ ระบบเอฟ.เอ็ม.ทำงานในย่านความถี่สูงมาก เป็นเครื่องที่ออกแบบใช้งานกับไฟสลับตามบ้าน แบตเตอรี่รถยนต์ แบตเตอรี่ในตัวทั้งชนิดถ่านไฟฉายและนิคเกิ้ล
แคตเมี่ยมได้ มีน้ำหนักไม่มาก ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี บางเครื่องยังใช้งานได้จนบัดนี้ ในระหว่างทรงใช้งานเครื่องได้เกิดขัดข้อง เช่น ส่งไม่ออกบ้าง รับฟังไม่ได้ดีบ้าง มีเสียงรบกวนบ้าง ฯลฯ พระองค์ท่านได้ทรงติดต่อสอบถามทางวิทยุและโทรศัพท์อยู่ตลอดมา บางครั้งได้พระราชทานเครื่องให้ข้าพเจ้ารับไปซ่อมหาสาเหตุกับวิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง ซึ่งข้าพเจ้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบทุกระยะนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าบางเครื่องข้าพเจ้าสามารถกราบบังคมทูลได้กระจ่าง บางเรื่องไม่สามารถกระทำได้เพราะข้อปัญหานั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ข้าพเจ้าได้จัดเขียนวงจรวิทยุอย่างง่าย หรือ BLOCK DIAGRAM พร้อมคำอธิบายสั้นๆ ของระบบการทำงานแต่ละภาคถวาย หากมีโอกาสข้าพเจ้าจะถวายคำอธิบายด้วยตนเองประกอบซึ่งนับว่าได้ผลดี เมื่อทรงเข้าพระทัยบ้างพอสมควร ข้าพเจ้าจึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องมือตรวจปรับบางอย่างรวมทั้งอุปกรณ์อะไหล่บางอย่างเท่าที่จำเป็นให้ เช่น เครื่องวัดกำลังส่งวิทยุ (RF Wattmeter) เครื่องวัดความถี่วิทยุฯ (เครื่องมือตรวจวัดเหล่านี้ต่อมาทรงสั่งซื้อมาได้เอง) การตรวจปรับครั้งแรก คือ การตรวจปรับกำลังส่งของเครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5  วิธีการตรวจปรับจะต้องถอดตัวเครื่องออกให้เห็นอุปกรณ์ภายในแล้วลงมือตรวจวัดปรับตรงจุดต่างๆ ซึ่งหนังสือคู่มือการตรวจซ่อมระบุไว้ เมื่อทรงเริ่มต้นแล้วข้าพเจ้าเชื่อว่าจะต้องมีปัญหาในทางปฏิบัติอีกหลายประการ และแล้ว “โรงเรียนสอนวิชาช่างวิทยุทางอากาศ” ก็เกิดขึ้น
            ข้าพเจ้ายอมรับว่า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมีความรู้ประสบการณ์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านช่างวิทยุมามาก เพราะได้คลุกคลีงานนี้ตลอดมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อได้รับตำแหน่งให้สูงขึ้นงานภาคปฏิบัติเกือบไม่มีเลย ต่างกับในระยะดำรงตำแหน่งรองหัวหน้ากองและหัวหน้ากองการสื่อสารกรมตำรวจ (ปี พ.ศ. 2509-2511) ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นงานช่างวิทยุแล้ว ข้าพเจ้าซึ่งถวายงานด้านนี้จะนิ่งดูดายกระไรได้ การทำงานช่างจะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ตามสมควร เช่น เครื่องมือตรวจวัดต่างๆ เครื่องมือวัสดุการช่าง เช่น หัวแร้งไฟฟ้า คีม ไขควง ตะกั่วบัดกรี ฯลฯ ความจริงแล้วในตอนนั้น ข้าพเจ้ายังพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักของทางราชการภายในบริเวณแผนกโรงงานกองการสื่อสาร กรมตำรวจบางเขน อาจจะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ของหน่วยซ่อมได้แต่คงไม่สะดวก เพราะพระองค์ท่านจะทรงทดลองปฏิบัติในเวลากลางคืนหลังจากเสร็จสิ้นพระราชภารกิจแล้ว ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจเปิดห้องหนึ่งที่บ้านพักเป็นห้องซ่อมและศูนย์สื่อสารพิเศษ และเบิกเครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งอุปกรณ์อะไหล่มาสำรองไว้เท่าที่จำเป็น รวมทั้งเครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5 ซึ่งจะใช้ประกอบหลักสูตรนี้ และเริ่มอ่านหนังสือคู่มือการใช้และการตรวจซ่อมบำรุงรักษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
            การตรวจปรับกำลังส่งอาจจะไม่ใช่ของยากสำหรับช่างวิทยุซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยตรง หรือสำหรับคลื่นที่คลาดเคลื่อนเล็กน้อย หรือการปรับเครื่องที่ต้องการเปลี่ยนความถี่ไปจากเดิมไม่มาก การเปลี่ยนความถี่ของเครื่องที่ห่างจากความถี่ที่ปรับไว้เดิมมากเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบากสำหรับช่างวิทยุขั้นต้น ข้าพเจ้าเองต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบและสังเกตจดจำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุกภาควงจรไว้ให้แม่นเพื่อกราบบังคมทูลเมื่อรับสั่งถามมา และแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อได้เวลาทั้งสองฝ่ายจะมีเครื่องวิทยุที่ประกอบการสอนอยู่ตรงหน้าแล้ว จะทรงเริ่มปฏิบัติผลการปฏิบัติ ปัญหาและการตอบปัญหาจะกระทำผ่านคลื่นวิทยุ การปรับเครื่องส่งวิทยุมีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ จะต้องปรับให้ได้จุด Resonant ของความถี่นั้นให้เร็วที่สุด มิฉะนั้นฟิวส์จะขาดทรานซิสเตอร์ภาคขยายกำลังส่งจะลาออก (“ลาออก”  เป็นศัพท์ส่วนพระองค์แปลว่า “ชำรุดใช้การไม่ได้”)  เมื่อทรงปฏิบัติใหม่ๆ ได้ทรงประสบอาการที่ชำรุดทั้งสองประการ แต่ในระยะหลังทรงมีความชำนาญจึงไม่มีปัญหาการชำรุดดังกล่าวอีกเลย
            ที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือทรงมีความละเอียดประณีตที่ถ้วนในการปรับแต่งเครื่องเป็นอย่างสูง ตัวเลขที่อ่านจากมิเตอร์ประกอบการตรวจปรับที่แสดงคุณภาพดีของเครื่องจะสูงกว่าตัวเลขซึ่งระบุไว้ในหนังสือคู่มือ และสูงกว่าที่ช่างวิทยุซึ่งมีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างดี รวมทั้งตัวข้าพเจ้าอยู่เป็นประจำ เช่น กำลังส่งสูงสุดของเครื่องที่ระบุไว้ 5 วัตต์ นั้นบางครั้งทรงปรับได้ถึง 7 วัตต์ ข้าพเจ้านั้นกว่าจะปรับได้ 6 วัตต์ ก็แทบแย่
            การตรวจปรับภาคเครื่องส่งที่ค่อนข้างยากประการหนึ่งได้แก่ ภาคผสมคลื่นเสียงกับคลื่นวิทยุ (Modulation) หากผสมมากเกินไปเสียงจะพร่าบี้ไม่ชัดเจน ถ้าผสมน้อยเกินไปเสียงที่ออกอากาศจะเบา เมื่อปรับเสร็จจะต้องทดสอบโดยการผิวปากใส่ไมโครโฟนหรือร้องเสียง “อา....” แล้วใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องวัดความเบี่ยงเบนของความถี่ (Frequency Deviation Meter) ตรวจสอบดู พระองค์ท่านทรงทดสอบทั้งสองวิธี การตรวจปรับภาคผสมคลื่นนี้ จะกระทำได้เมื่อได้ตรวจปรับความถี่และกำลังส่งดังกล่าวข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องใช้ความประณีตพอสมควร มีข้อดีว่าทรานซิสเตอร์ไม่มีการลาออกถ้าปรับพลาดไป
            มีอุปกรณ์ประกอบของเครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5 อยู่อย่างหนึ่งเรียกว่า อุปกรณ์เพิ่มกำลังส่งเป็น 20 วัตต์  (20 Watts RF Power Amplifier) สามารถนำมาติดตั้งประกอบกับเครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5 เพื่อเพิ่มกำลังส่งออกอากาศไป 20 วัตต์ แต่จำเป็นจะต้องระมัดระวังในเรื่องการปรับวงจรเป็นพิเศษ หากปรับพลาดจุด Resonant ไปประเดี๋ยวเดียวทรานซิสเตอร์ขยายกำลังส่งจะลาออกทันที เมื่อเริ่มทรงปฏิบัติการในวงจรภาคนี้จึงได้ทรงทราบ ข้าพเจ้าเองยอมรับสารภาพว่าไม่เคยรู้จุดอ่อนตรงนี้มาก่อนเลย เพราะเป็นอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่สหรัฐอเมริกาส่งมาช่วยเหลือเพิ่มเติม ข้าพเจ้าจึงได้สั่งการแนะนำเจ้าหน้าที่ช่างวิทยุของกองการสื่อสารกรมตำรวจทุกคนทราบและคอยระมัดระวังเพราะทรานซิสเตอร์ตัวนี้มีราคาแพงมาก
            สำหรับการตรวจปรับภาคเครื่องรับนั้น ในทางช่างยึดถือคุณสมบัติความไวในการรับ (Sensitivity) เป็นเกณฑ์ เครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.5 มีความไวระหว่าง 0.5 ถึง 1 ไมโครโวลท์จึงจะใช้ได้ การปรับแต่งภาคเครื่องรับต้องใช้ความพิถีพิถัน ประณีตกว่าภาคเครื่องส่ง มีจุดที่จะต้องปรับแต่งมากกว่าหลายจุด แต่มีข้อดีกว่าคือ ทราสซิสเตอร์ไม่ลาออกเมื่อปรับไม่ตรงความถี่ เพียงแต่ว่ารับไม่ได้เอาเลย เมื่อข้าพเจ้าได้ถวายคำแนะนำวิธีการปรับแต่งทั้งทางตรงและทางอากาศแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มปฏิบัติตามขั้นตอนที่ข้าพเจ้าได้ถวายคำแนะนำไว้โดยปกติจะเป็นยามราตรีหลังจากเสร็จพระราชภารกิจประจำวันแล้ว มีอยู่หลายครั้งที่ผลออกมาไม่เป็นไปตามตำรา (หรือตำรามิได้กล่าวไว้) ทั้งๆ ที่พยายามกันอย่างที่สุดทั้งสองฝ่าย กว่าจะไปพบตัวปัญหาก็เกือบสว่าง การปรับแต่งที่ยากที่สุด คือ การเปลี่ยนความถี่ของภาคเครื่องรับซึ่งห่างไกลกว่าความถี่ที่ปรับไว้เดิมมาก เพราะไม่สามารถกระทำได้โดยการเปลี่ยนแร่บังคับความถี่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องปรับแต่งวงจรภาคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนจบ ที่จะต้องระมัดระวังอย่างหนึ่ง คือ ความถี่เงา (Image Frequency) ถ้าผู้ปรับหลงทางไปปรับเครื่องให้รับความถี่เงาแทนที่จะรับความถี่จริงก็เสียเวลาเปล่า พระองค์ท่านได้ทรงปรับเครื่องวิทยุเอฟ.เอ็ม.ที่ทรงใช้งานเครื่องอย่างประณีตที่สุด ผลปรากฏว่าเครื่องที่ดีที่สุดมีความไว 0.35 ไมโครโวลท์ และที่ต่ำที่สุดมีความไว 0.5 ไมโครโวลท์ ซึ่งนับว่าทำลายประวัติการณ์ เพราะเครื่องรับวิทยุ เอฟ.เอ็ม.5 ที่มีใช้ในราชการตำรวจตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบันไม่น้อยกว่าหมื่นเครื่องไม่เคยปรากฏว่ามีความไวดีกว่า 0.5 ไมโครโวลท์เลย
            ความละเอียดถี่ถ้วนอีกประการหนึ่งของพระองค์ท่าน คือ การปรับความถี่ของภาคเครื่องส่งและภาคเครื่องรับ เครื่องส่งวิทยุและเครื่องรับวิทยุซึ่งทรงปรับแล้วจะทรงตรวจสอบด้วยเครื่องวัดความถี่วิทยุ (Frequency Counter) ทุกครั้ง ทรงปรับด้วยความระมัดระวังไม่ให้คลาดเคลื่อนจนถึงตัวเลขสุดท้ายของหลัก ซึ่งเป็นส่วนเศษของหลักล้านของความถี่ที่ใช้งาน
            นอกจากทรงตรวจปรับความถี่ของเครื่องวิทยุที่ทรงใช้ส่วนพระองค์ ยังทรงสังเกตความถี่ของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมตำรวจ ศูนย์รักษาความปลอดภัย ฯลฯ ว่าคลาดเคลื่อนมากน้อยเพียงใดและพระราชทานคำแนะนำไป เพื่อให้หน่วยงานนั้นแก้ไขตลอดมาเพราะทรงตระหนักดีว่าความคลาดเคลื่อนของความถี่ใช้งานย่อมก่อให้เกิดการรบกวนแก่สถานีวิทยุอื่นซึ่งใช้ความถี่ข้างเคียงและเป็นการลดทอนประสิทธิภาพในการรับฟังของคู่สถานีที่ติดต่อด้วยได้
            นับว่าเป็นบุญตัวของข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสถวายงานทางด้านนี้สนองพระเดชพระคุณ ความประณีตละเอียดถี่ถ้วนของพระองค์ท่านได้ช่วยผลักดันให้ข้าพเจ้าต้องขวนขวายแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตัวเองทุกด้าน ทั้งในด้านการบริหารงาน ด้านวิชาการ ด้านปฏิบัติการช่วงให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกมาก เพราะเท่าที่ได้พัฒนามาโดยตลอดนั้นรู้สึกตัวเองว่าไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญเช่นนี้


                                                       พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์
** บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ "วิศวกรรมสาร" ปีที่ 35 เล่มที่ 6 เดือนธันวาคม 2525
 ซึ่งขณะนั้นท่านพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข