วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

การถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาทของท่านอาจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์


รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์

        ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง ท่านอาจารย์สุธี ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของประเทศไทยอีกท่านหนึ่งที่ได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านวงการวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารให้กับประเทศไทย   โดยเฉพาะในช่วง ๓๐-๔๐ ปีก่อนได้เคยถวายตัวรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อน้อมรับพระราชดำริในการออกแบบสร้างสายอากาศให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ คำเล่าต่อไปนี้จะเป็นฉากของภาพประวัติศาสตร์ที่ท่านอาจารย์สุธี ได้น้อมรับพระราชดำริของพระองค์ท่านเพื่อนำมาออกแบบและสร้างสายอากาศถวายตามพระราชประสงค์ จนกระทั่งสายอากาศเหล่านั้นได้รับพระราชทานชื่อ สุธี ๑ สุธี ๒ สุธี ๓ และสุธี ๔ (Suthi1, Suthi2, Suthi3, Suthi4) ดังนั้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่ท่านอาจารย์สุธีที่ได้อุทิศตนมาจวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ผมในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านอาจารย์คนหนึ่ง จึงขออนุญาตนำเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมสายอากาศมาเล่าให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบและซึมซับกันอีกครั้งหนึ่ง ลองมาดูคำเล่าเรื่องจากท่านอาจารย์กันดูนะครับ...

สายอากาศสุธี ๑ ( Antenna Suthi 1)
           ท่ามกลางแดดจัดยามบ่ายพระมหากษัตริย์ประทับบนดาดฟ้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับสายอากาศตามพระราชประสงค์จำนวนกว่า ๒๐ รายการ แก่ รศ.ดร. สุธี อักษรกิตติ์ กรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
          รศ.ดร.สุธี เล่าว่า " แต่ละข้อเวลาท่านรับสั่งก็คิดไปในใจว่าเอาตำราเล่มไหนดี? จะไป พลิกตรงไหนดี ? พอชักมากขึ้น ๆ ก็เอ... มันไม่มีในตำราเสียแล้วนะครับ "
          คุณสมบัติสำคัญของสายอากาศที่พระราชทานในวันนั้น สรุปได้คือเป็นสายอากาศ สำหรับเครื่องวิทยุสื่อสารผ่านความถี่สูงมาก สามารถรับส่งได้ไกล หาทิศทางขณะติดต่อได้ สามารถต่อพ่วงกับวิทยุได้หลายเครื่องในเวลาเดียวกัน และสูญเสียกำลังส่งขณะกระจายคลื่น ได้บ้างแต่ให้น้อยที่สุด
           " คำว่าได้บ้างในที่นี้ก็เป็นมาตรฐานสากลว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์แต่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวท่านรับสั่งว่า ขอ ๑ เปอร์เซ็นต์นะ ๑๐ กับ ๑ นี่ รู้สึกว่ามันก็เยอะเหมือนกัน " รศ.ดร.สุธี  เล่าต่อ
           ศักยภาพในการคิดและความรู้ทางวิชาการถูกนำออกมาใช้อย่างหนัก ในที่สุดคณะทำงานก็พบว่าการสูญเสียประสิทธิภาพการกระจายคลื่นของสายอากาศเกิดจากผิวของโลหะที่ใช้ทำสายอากาศนั้นหมองเพราะมีออกไซด์จับในครั้งแรก ใช้การขัดผิวจนเป็นมันแต่เกิด ปัญหาตามมาก็คือคงอยู่ได้ไม่นานก็เกิดการหมองอีกซ้ำเพิ่มการสูญเสียมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
           รศ.ดร.สุธี : " นึกถึงพระราชดำริของท่าน (ต่อมามีหลายคนก็รู้จัก) เรื่องเศรษฐกิจพอ เพียง คือ บางอย่างนี่สำเร็จสัมฤทธิ์ได้โดยไม่ต้องไปแพงหรือยุ่งยากจนเกินไปนะครับ ผมก็เลยไปซื้อแลคเกอร์ตอนนั้น กระป๋องละยี่สิบกว่าบาทครับ มาฉีดผิวมันไว้เลยไป โค้ทมันไว้ไป ทาผิวมันไว้ตอนนี้เลยไม่หมองเลยทีนี้ก็ใช้ได้ตลอดไป "
           สายอากาศที่พัฒนาขึ้นและพระราชทานชื่อสุธี ๑ นี้ สร้างเสร็จในปี ๒๕๑๕ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในงานสื่อสารเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสาธารณภัยต่างๆ ทั้ง อัคคีภัย อุทกภัย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการบรรเทาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี ๒๕๑๖
           รศ.ดร.สุธี : " หลายท่านก็คงนึกเห็นภาพในยามวิกฤตนี้ พระองค์ท่านจะรู้ก่อนเลยว่า อยู่ตรงไหนกัน ซึ่งทำให้พระองค์ท่านสามารถระงับเหตุได้ทันท่วงทีอย่างน้อยก็ผ่อนที่จะหนักมาก ๆ เป็นเบามาก ๆ "


สายอากาศสุธี ๒

สายอากาศสุธี ๒ ( Antenna Suthi 2)
           กว่า ๓๐ ปีก่อน ตำรวจทหารต้องอาศัยความช่วยเหลืออุปกรณ์วิทยุสื่อสารขนาดเล็กที่มีกำลังส่งไม่เกิน ๑๐ วัตต์ จากองค์การยูซ่อมประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งบางส่วนเป็นวิทยุเหลือค้างจากสงครามเวียดนาม และมีปัญหาเรื่องคุณภาพในการใช้งาน
            เพื่อให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของวิทยุสื่อสารลักษณะนี้ได้เองในประเทศ จึงมีพระราชประสงค์ ให้พัฒนาสายอากาศที่สามารถรับส่งสัญญาณระหว่างพระตำหนักจิตรลดารโหฐานกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ด้วยเครื่องวิทยุกำลังส่งไม่เกิน ๑๐ วัตต์
           " ตกใจพอสมควรครับ ว่าไกลด้วย ! ๖๐๐ กิโลเมตร.? เครื่องส่ง ๕ วัตต์ ๑๐ วัตต์. ? แล้วจะทำยังไงดี ? แต่ก็ยังคิดเข้าข้างตัวเอง ใจดีขึ้นมาหน่อยว่าคงใช้เวลาสักปีสองปีในการค้นคว้าเรื่องนี้ "
           เป็นด้วยประสบการณ์ที่เคยทรงศึกษาทดลองในเบื้องต้นมาก่อนและอาจเป็นด้วยทรงทราบศักยภาพของคณะทำงาน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะทรงทดลองพระราชดำริใหม่นี้ในอีก ๑๕ ถึง ๒๐ วันข้างหน้า
           รศ.ดร.สุธี : " นอกจากท้าทายแล้วนี่ ยังบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ด้วยแต่ว่าต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ช่วงนั้นไม่ได้นอนกันสองสัปดาห์เต็มเพื่อจะทำให้เรื่องนี้ให้เสร็จ "
           ในที่สุดเมื่อต้นปี ๒๕๑๗ สายอากาศสุธี ๒ ซึ่งติดตั้งบนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานและพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ สามารถรับสัญญาณจากเครื่องรับส่งวิทยุกำลังไม่เกิน ๑๐ วัตต์ ในระยะทางกว่า ๖๐๐ กิโลเมตร ได้เป็นผลสำเร็จ
            แม้ว่าสายอากาศสุธี ๒ ที่มีพระราชดำริให้พัฒนาขึ้นนั้นประสบผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ แต่จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรและข้าราชการทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ชนบทซึ่งยังห่างไกลจากการคมนาคมอยู่มาก
            สายอากาศสุธี ๒ มีขนาดใหญ่ไม่เหมาะใช้งานในถิ่นทุรกันดารเช่นนั้น จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาสายอากาศขึ้นอีกแบบหนึ่ง ที่ใช้ง่ายสามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลโดยเฉพาะในพื้นที่ท่ามกลางป่าเขา
           รศ.ดร.สุธี : " สายอากาศชนิดนั้นต่อมาท่านพระราชทานชื่อว่า " เป็นไส้กรอกหลวง " แล้วท่านก็ยังรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษว่า Royal Sausage "
           สายอากาศซึ่งมีรูปร่างเหมือนไส้กรอกอีสานจึงพระราชทานชื่อว่า " ไส้กรอกหลวง " นั้นพัฒนาขึ้นจากสายเคเบิลนำสัญญาณธรรมดาโดยนำมาวงเป็นวงกลมต่อกัน
          รศ.ดร.สุธี : " ที่ปลายของสายอากาศนี้จะยาวหน่อย แล้วเราก็เหวี่ยงให้มันขึ้นไปเกี่ยวกับยอดไม้ ก็จะได้สายอากาศอย่างดีเลยนะครับแล้วไปได้ไกลลิบเลยพอไม่ใช้ก็กระตุกลงมามันก็หลุดลงมาแล้วก็ม้วนทำเหมือนคาวบอย คือ ใช้งานสะดวกครับใช้ในป่า "
          คลื่นวิทยุที่ใช้กับสายอากาศไส้กรอกหลวงนั้นมาจากการค้นคว้าตำราทางวิชาการที่ระบุถึงการค้นพบคลื่นชนิดที่ใช้ยอดไม้ในป่าเป็นสื่อนำสัญญาณซึ่งเป็นความรู้ที่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้สร้างงานจริงมาก่อน
           รศ.ดร.สุธี : " ที่น่าสังเกตคือ ยังไม่เคยมีใครทำไกลถึงขนาดนี้ การติดต่อสื่อสารก็ไกลบ้างอะไรอย่างนี้ หรือในป่าซึ่งสายอากาศเป็นสายอากาศพิเศษที่ท่านพระราชทานชื่อเป็นไส้กรอกหลวง อะไรนี่ครับ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน "

สายอากาศสุธี ๓

สายอากาศสุธี ๓ - ๔ ( Antenna Suthi 3-4)
           ยังมีสายอากาศสุธี ๓ และ สุธี ๔ ที่เกิดจากพระราชดำริให้พัฒนาเพื่อให้การสื่อสาร มีประสิทธิ- ภาพสูงสุด สัญญาณไม่ขาดหายแม้ในสภาพอากาศแปรปรวน แบบสายอากาศต่างๆ ที่มีพระราชดำริให้พัฒนาขึ้น ซึ่งถ้าคำนวณเป็นมูลค่าทางการค้านั้นมีราคาสูงยิ่งแต่ได้พระราชทานแบบให้เปล่าแก่ทางราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงใช้เป็นกิจการรักษาพยาบาลทางไกลของมูล นิธิ พอ.สว. ด้วย ทำให้ประเทศสามารถลดการนำเข้าสายอากาศได้เป็นเงินมหาศาล
           จากพระราชดำริริเริ่มที่ตั้งต้นจากประโยชน์ใช้งานเป็นหลักความลึกซึ้งรอบด้านในการแสวงหาข้อมูลทางวิชาการ ผสานความร่วมมือกันของคณะทำงานเพื่อประโยชน์ ส่วนรวม อย่างแท้จริงบนหลักของความเชื่อมั่นที่จะพึ่งตนเองเป็นแบบอย่างการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงเป็นกรอบในการทำงานที่ชัดเจน
           รศ.ดร.สุธี สรุปในตอนท้ายว่า
          "อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านมีรับสั่งเรื่องความพอเพียงทั้งหลายนะครับ ถ้าเราไปแสวงหาในสิ่งซึ่งมันแพงแล้วหายากมากในที่สุดแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะ พัฒนาอะไรขึ้นมาได้"

หมายเหตุ สำหรับรูปภาพของสายอากาศสุธี ๑ และสายอากาศสุธี ๔ ผมได้ขอจากท่านอาจารย์แล้วครับ หากได้มาเมื่อใด จะรีบนำมาเผยโฉมให้พวกเราได้ชมกันครับ......รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์ (๑๒/๐๓/๕๔)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น